วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เรียงความ “ประชาธิปไตยในโรงเรียน”

ประชาธิปไตยเป็นหนึ่งในระบอบการปกครองที่หลายๆประเทศนำมาใช้ในการปกครองประเทศของตน ซึ่งหมายถึงการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ มีรากศัพท์มาจากคำว่า ประชา กับ อธิปไตย คือประชาชนและอำนาจสูงสุด นั่นก็คือประชาชนมีอำนาจสูงสุด หรือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน เมื่อเอ่ยถึงคำว่าประชาธิปไตยจะมีความรู้สึกตามมาทันทีคือ เป็นระบบการปกครองที่ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงในการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศโดยมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเพื่อทำหน้าที่เป็นปากเสียงแทนตนในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะมีการประชุมเพื่อออกกฎหมาย แก้ปัญหาของสังคมประเทศชาติและเพื่อพัฒนาประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรืองซึ่งหนีไม่พ้นที่จะมีการจัดสรรทรัพยากรของชาติดังนั้นประชาธิปไตยจึงมีความหมายว่าประชาชนมีสิทธ์ในการปกครองตนเองเป็นระบอบการปกครองที่ตรงกันข้ามกับระบอบเผด็จการ
ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสังคมที่บ่งชี้ถึงลักษณะความเสมอภาคและเท่าเทียมกันกล่าวคือ ปรัชญาเบื้องต้นของสังคมแบบประชาธิปไตย คือทุกคนในสังคมไม่ว่าจะมาจากเทือกเถาเหล่ากอใด มีฐานะทางเศรษฐกิจและการเงินอย่างไร มีฐานะทางสังคมสูงหรือต่ำอย่างไร มีฐานะและตำแหน่งทางการเมืองหรือฐานะในราชการยิ่งใหญ่เพียงใด ย่อมเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันในทางการเมืองและกฎหมาย ถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือทุกคนในสังคมถ้าปฏิบัติตามกฎหมาย มีอาชีพสุจริตย่อมมีศักดิ์ศรีของความเป็นคนเท่าเทียมกันและมีสิทธ์เสรีภาพในด้านต่างๆภายใต้รัฐธรรมนูญเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะการมีสิทธิ์เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการได้รับการปฏิบัติจากสังคมในฐานะสมาชิกของชุมชนเท่าเทียมกับสมาชิกคนอื่นๆ แต่ในทางความเป็นจริงคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความเลื่อมล้ำในสังคมย่อมจะยังมีอยู่ ความเสมอภาคที่กล่าวมาเป็นเรื่องของอุดมคติ การที่จะเห็นมหาเศรษฐีมีเงินเป็น ร้อยๆ พันๆล้านมีความเสมอภาคกับผู้ใช้แรงงานก่อสร้างหรือลูกจ้างหาเช้ากินค่ำคงจะยากในความเป็นจริง แต่อย่างน้อยในแง่ของความเป็นคน ในแง่ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เศรษฐีผู้นั้นก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะใช้อำนาจบาตรใหญ่ข่มเหงรังแกผู้ที่มีฐานะต้อยกว่าตนและผู้ใช้แรงงานนั้นก็มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียง เลือกตั้งได้หนึ่งเสียงเช่นเดียวกับเศรษฐีเงินร้อยล้านพันล้าน ความเป็นเศรษฐีย่อมไม่ได้มีอภิสิทธิ์อะไรในทางกฎหมายหรือในทางการเมือง คนในสังคมประชาธิปไตยที่อยู่ในฐานะต่ำสุด จะต้องสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์กล่าวคือมีปัจจัยสี่ คือมีอาหารพอกินมีเครื่องนุ่งห่ม มีที่อยู่อาศัยมียารักษาโรคและเข้ารับรักษาพยาบาลยามป่วยสิทธิเสรีภาพได้รับการประกันโดยรัฐธรรมนูญและการบังคับกฎหมายและย่อมมีโอกาสที่จะขยับชั้นในทางสังคมนั่นคือเปลี่ยนแปลงฐานะได้ถ้ามีความขยันขันแข็งและมีความสามารถ การให้โอกาสในการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในสังคมประชาธิปไตยต้องเป็นสังคมที่ทุกคนมีโอกาสเข้าศึกษาเล่าเรียนในแขนงวิชาต่างอย่างเต็มที่โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดหรือมีการสนับสนุนด้วยทุนการศึกษา การศึกษาขั้นบังคับคือชั้นมัธยมและอาชีวะควรเป็นการศึกษาที่คนในสังคมโดยเฉพาะในกลุ่มที่จนที่สุดมีโอกาสเข้าศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดเพราะการศึกษาคือบันไดในการไต่เต้าไปสู่การขยับชั้นทางสังคม ซึ่งต้องเปิดกว้างสำหรับทุกคน
โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้แก่เด็กนักเรียน เยาวชน ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะเติบโตเป็นอนาคตของประเทศชาติ เมื่อเด็กนักเรียนเริ่มไปโรงเรียนก็จะพบและอยู่ด้วยกันในสังคมหมู่เหล่าซึ่งจะต้องมีกฎเกณฑ์ มารยาท กติกาต่างๆมากขึ้นเช่น การวางตัว การรักษาเวลา การรักษาทรัพย์สินส่วนตัว การรู้จักใช้ของร่วมกับผู้อื่น การรู้จักนั่งโดยสงบ การเข้าแถว ไม่ส่งเสียงดัง การร้องรำทำเพลง การจัดกิจกรรมร่วมกัน ในสังคมเผด็จการกิจกรรมเหล่านี้จะมีครูหรือผู้ใหญ่คอยสั่งและมีมาตรการทำโทษแต่ในสังคมประชาธิปไตยนักเรียนจะได้รับการชี้แนะและบอกแนวทาง โรงเรียนนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและชุมชน จึงมีบทบาทในการเตรียมความพร้อมผู้เยาว์ให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในสังคม การสร้างลักษณะนิสัยนักเรียนรู้จักระเบียบข้อบังคับกฎเกณฑ์และกติกาตลอดจนรู้จักรับผิดชอบหน้าที่ที่ตนพึงมีต่อหมู่คณะ ชุมชนและสังคมได้อย่างเหมาะสม ทางโรงเรียนจึงสมควรที่จะนำรูปแบบประชาธิปไตยมาใช้ในโรงเรียนเพื่อเป็นการปูพื้นฐานประชาธิปไตยให้ดีขึ้นแล้วรู้จักปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามภาระหน้าที่และมีวิถีชีวิตตามหลักประชาธิปไตยสามารถดำรงตนให้อยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข วิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่จำเป็นต้องปลูกฝังแก่คนในชาติเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงแก่ระบอบประชาธิปไตย นักเรียน นักศึกษาเป็นเป้าหมายหลักที่ควรปลูกฝังให้มีความรู้พื้นฐานทางวิชาการและด้านอาชีพที่เหมาะสมตามวัย เป็นพลเมืองดีตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โรงเรียนเป็นแหล่งปลูกฝังประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนเพราะโรงเรียนเป็นสถาบันที่มีหน้าที่ให้การศึกษาทางการเมืองการปกครองได้มากกว่าสถาบันอื่นๆและได้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เข้าไปมีบทบาท ปฏิบัติตามแนวทางที่สะสมมาเพื่อให้การปลูกฝังและส่งเสริมวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยเกิดผลอย่างจริงจังในปัจจุบันสถานศึกษาก็มีการบริหารจัดการศึกษาให้กับนักเรียนเหมือนกับการปกครองประเทศแต่เป็นการปกครองในรูปแบบที่เล็กกว่าแต่พื้นฐานการปกครองก็เป็นไปในรูปแบบเดียวกันกับการปกครองแบบประชาธิปไตย สถานศึกษาต้องประกอบด้วยบุคลากรสำคัญคือ ครู นักเรียน นักการภารโรง เป็นต้น วิถีชีวิตประชาธิปไตยในสถานศึกษาต้องคำนึงถึงคุณลักษณะประชาธิปไตยในการเคารพในกฎระเบียบของสถานศึกษาแสดงความคิดเห็นยอมรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่นและลงมติโดยยึดถึงเสียงข้างมากในการปกครอง
ข้าพเจ้าคิดว่าการที่เราจะให้นักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับประธิปไตยที่ดีเราต้องเริ่มที่ครอบครัวซึ่งโดยให้ผู้ปกครองเป็นผู้ที่คอยปลูกฝังจิตสำนึกให้กับเด็กและพอโตมาก็ให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนในการอบรม บ่มนิสัยให้กับนักเรียนในด้านของประชาธิปไตยเป็นลำดับต่อไปเพื่อให้นักเรียนเป็นบุคคลที่มีศักยภาพในด้านของประชาธิปไตยและเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตประจำวันของนักเรียนเองและคอยปลุกฝังบุคลิกภาพให้นักเรียนในโรงเรียน ด้วยกันฝึกให้นักเรียนรู้หน้าที่ รู้จักช่วยเหลือตนเองและรู้จักแสดงความรักความห่วงใย จะช่วยให้เด็กเห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น ยินดีทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เป็นการหล่อหลอมจิตใจให้เป็นประชาธิปไตย ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประสานความร่วมมือให้นักเรียนมีกระบวนทางประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่น การจัดกิจกรรมวันต่อต้านยาเสพติด, สัปดาห์สิ่งแวดล้อม, วันสุนทรภู่ สัปดาห์วิทยาศาสตร์ กิจกรรมเทิดพระเกียรติ5ธันวาคม และ12สิงหาคม กิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือ จัดกิจกรรมให้นักเรียนและฝึกให้นักเรียนฝึกปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน ยอมรับฟังในความคิดเห็นของผู้อื่น การเลือกประธานโรงเรียน ประธานกลุ่มสี ประธานห้อง โดยทุกคนมีสิทธิ์ในการออกเสียงลงคะแนนและยอมรับในเสียงส่วนมากและไม่มองข้างในเสียงส่วนน้อย กิจกรรมการเลือกตั้งนั้นเป็นกิจกรรมที่สำคัญในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนจึงต้องพัฒนาให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนด เพื่อให้นักเรียนได้ตระหนักและมีจิตสำนึกในการปกครองระบอบประชาธิปไตยตลอดจนการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันให้มากที่สุดซึ่งนักเรียนจะได้พบกับโลกแห่งความจริงเพราะจะช่วยฝึกฝนให้มีทักษะในเรื่องของกระบวนการกลุ่ม การทำงานร่วมกันเป็นทีม การฝึกการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี การเคารพความคิดเห็นผู้อื่น การให้การยอมรับและการให้เกียรติซึ่งกันและกัน เข้าใจในเรื่องสิทธิหน้าที่ต่างๆ นอกจากจัดให้นักเรียนแล้ว ประชาชนทุกคนต้องมีขันติธรรมกล่าวคือสมาชิกในสังคมประชาธิปไตยจะต้องมีความอดกลั้น อดทนอย่างยิ่ง ต้องสามารถรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นที่ไม่ตรงกับความคิดเห็นของตนได้ ต้องรอฟังความคิดเห็นส่วนใหญ่จากบรรดาผู้เกี่ยวข้องในการที่จะดำเนินการหรือแก้ปัญหาใดๆที่เกิดขึ้นในสังคมทั้งต้องทนต่อสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นตามความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้ กระบวนการประชาธิปไตยจึงต้องอาศัยเวลาต้องค่อยเป็นค่อยไปและต้องมีการกระทำอย่างต่อเนื่องสมาชิกในสังคมนี้จึงจะต้องได้รับการปลุกฝังคุณสมบัติดังกล่าวตั้งแต่เยาว์วัยและพัฒนาขึ้นตามลำดับ และดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมหมู่มาก เพราะสังคมอันเป็นส่วนร่วมของทุกคน ดังนั้นจึงต้องมีหน้าที่ทำประโยชน์ให้เป็นการตอบแทน โดยการมีทัศนะคติที่ดีต่อผู้อื่นยอมรับตามความคิดเห็นของผู้อื่น เคารพในศักดิ์ของความเป็นมนุษย์นอกจากจะยึดถือประชาธิปไตยเป็นแบบการปกครองแล้วยังต้องยึดเอาประชาธิปไตยไว้ในฐานะที่เป็นวิถีทางแห่งชีวิตประจำวันเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญาความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและมีวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขให้แก่นักเรียนก่อนที่จะออกไปประกอบอาชีพและแสดงบทบาททางการเมืองและการดำรงชีวิตของตนเองและครอบครัวแบบประชาธิปไตยและการพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป
ในสถานศึกษานั้นเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นจุดประกายในการปลุกฝังให้นักเรียนมีจิตใจเป็นประชาธิปไตยเพราะประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบการปกครองหนึ่งที่มีผลดีหลายๆด้านที่จะช่วยพัฒนาประเทศชาติทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบุคลากรในสังคมหรือชุมชนจะให้ความสำคัญและเล็งเห็นถึงคุณค่าของคำว่าประชาธิปไตยการที่จะให้คนในชุมชนมีจิตใจเป็นประชาธิปไตยจะต้องมีการปลูกฝังและฝึกฝนตั้งแต่ยังเด็กดังสุภาษิตที่ว่า “ไม้อ่อนหักง่าย ไม้แก่หักยาก”